ความรู้ที่ได้รับ
ในวันนี้อาจารย์ให้นักศึกษาทุกคนเข้าชมนิทรรศการของพี่ๆชั้นปีที่ 5 สำหรับการฝึกสอน ซึ่งในช่วงที่พี่ๆได้ฝึกสอนตามโรงเรียนต่างๆ ได้ทำสื่อให้เด็กได้เรียนรู้ในแต่ละเรื่อง การจัดประสบการณ์ต่างๆ ในเรื่องที่เด็กสนใจ พี่ๆได้นำมาถ่ายทอดให้พวกเรารุ่นน้องได้ชมกันว่ามีอะไรบ้างและเป็นอย่างไร
อาจารย์ได้มอบหมายงานให้นักศึกษาจดบันทึกแล้วให้พี่ๆเซ็นชื่อ
โปรเจ็กต์ " เรือ "
👯การสอนแบบโครงการ(Project Approach)
การสอนแบบโครงการหรือแบบโครงงาน Project Approach วงการศึกษาของไทยใช้ชื่อ “การสอนแบบโครงการ” ในระดับปฐมวัยศึกษาหรือระดับอนุบาลศึกษา และ ใช้ชื่อ การสอนแบบโครงงาน ในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา การสอนดังกล่าวเป็นวิธีการหนึ่งในหลายวิธีที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้โดยการสร้างความรู้ด้วยตนเอง นับเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการปฏิบัติที่เหมาะสมและการเรียนรู้ที่มีความหมายเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นของเด็กปฐมวัย
ความหมายของโปรเจคแอพโพส (Project Approach) คือวิธีการสอนรูปแบบหนึ่งที่ได้ให้โอกาสเด็กปฐมวัยเรียนรู้โดยการสืบค้นข้อมูลอย่างลึกในหัวเรื่องที่เด็กสนใจ มีค่าต่อการเรียนรู้ การสืบค้นอาจทำโดยเด็กกลุ่มเล็ก ๆ หรือเด็กทั้งชั้นร่วมกันหรืออาจเป็นเพียงเด็กคนใดคนหนึ่ง เพื่อหาคำตอบจากคำถามที่เด็กร่วมกันคิดด้วยกันกับเพื่อนหรือร่วมกันคิดกับครู และทำให้เกิดกระบวนการสืบค้นขึ้นมา ทั้งนี้หัวเรื่องที่นำมาสืบค้นมักจะมีความหมายต่อตัวเด็ก เช่น บ้าน รถยนต์ รถเมล์ เครื่องบิน โรงพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถบูรณาการเข้าในหลักสูตรปฐมวัยได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับครูและสถานศึกษาที่นำไปใช้ หรือบูรณาการเนื้อหาเกี่ยวกับ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมทั้งภาษา ในขณะทำโครงการได้อีกด้วย
ที่มาแนวคิด “Project Approach” เริ่มจากความเคลื่อนไหวของนักการศึกษากลุ่มพิพัฒนนิยม (Progressive) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงศตวรรษที่ 19 – 20 จอห์น ดิวอี้ ได้เขียนบทความและหนังสือที่เกี่ยวกับการสร้างประสบการณ์ทางการศึกษา ที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดความตระหนักในชุมชนร่วมกัน และได้นำโครงการเข้าไปใช้ในโรงเรียนทดลองที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1943 ลูซี่ สปราค มิทเชลล์ (Lucy Spraque Mitchell) ได้นำนักศึกษาของวิทยาลัยการศึกษาแบงก์สตรีท เมืองนิวยอร์ก ออกศึกษาสิ่งแวดล้อม และได้สอนครูให้รู้จักวิธีการใช้โครงการวิธีสอนที่พัฒนาโดยวิทยาลัยการศึกษาแบงก์สตรีทนี้ มีส่วนคล้ายคลึงอย่างมากกับการสอนการใช้โครงการวิธีการสอนที่แบบโครงการ ส่วนในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา ครูโรงเรียนก่อนประถมศึกษาเมืองเรกจิโอ เอมิเลีย ประเทศอิตาลี ได้ประสบความสำเร็จในการนำโครงการเข้าไปใช้กับเด็กปฐมวัย แต่ลักษณะโครงการส่วนใหญ่โน้มเอียงไปทางการเรียนรู้ภาษากราฟิก (เขียนภาพลายเส้น) และข้อมูลที่ขยายการเรียนของเด็กผ่านโครงการรวมทั้งบทบาทของครูและพ่อแม่ในงานโครงการ
👱การนำแนวคิดการสอนแบบโครงการประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน👱
ในระดับปฐมวัยศึกษา หรือการสอนแบบโครงการจะปรากฏกิจกรรม 5 ลักษณะในแต่ละระยะของการทำโครงการซึ่งเสมือนขั้นตอนการสอนแบบโครงการกิจกรรมทั้ง 5 ลักษณะประกอบด้วย
1.การอภิปราย ในงานโครงการครูสามารถแนะนำการเรียนรู้ให้เด็ก และช่วยให้เด็กแต่ละคนมีโอกาสแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนทำกับเพื่อน การพบปะสนทนากันในกลุ่มย่อย หรือกลุ่มใหญ่ทั้งชั้นทำให้เด็กมีโอกาสที่จะอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
2.การศึกษานอกสถานที่หรืองานในภาคสนาม เป็นกระบวนการที่สำคัญของการทำโครงการประสบการณ์ในระยะแรกครูอาจพาไปศึกษานอกห้องเรียน เรียนรู้สิ่งก่อสร้างต่างๆที่อยู่รอบบริเวณโรงเรียนเช่น ร้านค้า ถนนหนทาง ป้ายสัญญาณ งานบริการต่างๆ ฯลฯ จะช่วยให้เด็กเข้าใจโลกที่แวดล้อม มีโอกาสพบปะกับบุคคลที่มีความรู้เชี่ยวชาญในหัวเรื่องที่เด็กสนใจซึ่งถือเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ขั้นแรกของงานศึกษาค้นคว้า
3.การนำเสนอประสบการณ์เดิม เด็กสามารถทบทวนประสบการณ์เดิมในหัวเรื่องที่น่าสนใจ มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นในประสบการณ์ที่เหมือนหรือแตกต่างกับเพื่อน รวมทั้งแสดงคำถามที่ต้องการสืบค้นในหัวเรื่องนั้นๆ นอกจากนี้เด็กแต่ละคนสามารถที่จะเสนอประสบการณ์ที่ตนมีให้เพื่อนในชั้นได้รู้ด้วยวิธีการอันหลากหลายเสมือนเป็นการพัฒนาทักษะเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ การเขียน การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ การเล่นบทบาทสมมติและการก่อสร้างแบบต่าง ๆ
4.การสืบค้น งานโครงการเปิดกว้างให้ใช้แหล่งค้นคว้าข้อมูลอย่างหลากหลายตามหัวเรื่องที่สนใจเด็กสามารถสัมภาษณ์พ่อแม่ ผู้ปกครองของตนเอง บุคคลในครอบครัว เพื่อนนอกโรงเรียนสามารถหาคำตอบของตนด้วยการศึกษานอกสถานที่ สัมภาษณ์วิทยากรท้องถิ่นที่มีความรอบรู้ในหัวเรื่อง อาจสำรวจ วิเคราะห์วัตถุสิ่งของตนเอง เขียนโครงร่าง หรือใช้แว่นขยายส่องดูวัตถุต่าง ๆ หรืออาจใช้หนังสือในชั้นเรียนหรือในห้องสมุดทำการค้นคว้า
5.การจัดแสดง การจัดแสดงทำได้หลายรูปแบบ อาจใช้ฝาผนังหรือป้ายจัดแสดงงานของเด็ก เป็นการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้ที่ได้จากการสืบค้นแก่เพื่อนในชั้น ครูสามารถให้เด็กในชั้นได้รับทราบความก้าวหน้าในการสืบค้นโดยจัดให้มีการอภิปราย หรือการจัดแสดงทั้งจะเป็นโอกาสให้เด็กและครูได้เล่าเรื่องงานโครงการที่ทำแก่ผู้มาเยี่ยมเยียนโรงเรียนอีกด้วย
👱ลักษณะทั้ง 5 ประการดังที่กล่าวมาจะปรากฏในแต่ละระยะของงานโครงการซึ่งมีอยู่ 3 ระยะคือ
👩ระยะที่ 1 เริ่มต้นโครงการ : ทบทวนความรู้และความสนใจของเด็ก
เด็กและครูจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการอภิปรายเพื่อเลือกและปรับหัวเรื่องที่จะทำการสืบค้น หัวเรื่องอาจเสนอโดยเด็กหรือครูและเด็กร่วมกันโดยใช้หลักในการเลือกหัวเรื่องดังนี้
1.เลือกหัวเรื่องที่เกี่ยวกับประสบการณ์ที่เด็กมีอยู่ทุกวัน อย่างน้อยเด็กประมาณ 2 – 3 คน ควรคุ้นเคยกับหัวเรื่อง และจะช่วยในการตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับหัวเรื่อง
2.ทักษะพื้นฐานทางการรู้หนังสือและจำนวน ควรถูกบูรณาการอยู่ในหัวเรื่องที่ทำโครงการรวมทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษา เช่น การถามคำถาม การสังเกต การนับ การทำกราฟ การสเก็ตซ์ภาพ การปั้น การประดิษฐ์ ฯลฯ
3.หัวเรื่องที่เลือกควรใช้เวลาทำโครงการได้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ และเหมาะที่จะทำการสำรวจค้นคว้าที่โรงเรียนมากกว่าที่บ้านเมื่อได้หัวเรื่องแล้ว ครูควรเริ่มทำแผนที่ทางความคิด (Mind map) หรือ ใยแมงมุม(Web) เพื่อระดมความคิดร่วมกับเด็กในหัวเรื่องนั้น และจัดแสดงแผนที่ทางความคิดที่ทำไว้ภายในชั้นเรียน ซึ่งข้อมูลต่าง ๆที่ได้สามารถใช้ในการสรุป อภิปราย ระหว่างทำโครงการ และยังสามารถเชื่อมโยงไปยังหัวเรื่องย่อยได้อีกนอกจากนี้ ในช่วงอภิปรายระดมความคิด ครูจะทราบว่าเด็กมีประสบการณ์ในหัวเรื่องนั้นเพียงใดที่เด็กจะเสนอประสบการณ์และแสดงแนวคิดสิ่งที่ตนเข้าใจในรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของวัย เช่นเด็กปฐมวัยอาจใช้การเขียนภาพ เล่นบทบาทสมมติ ฯลฯ ครูจะเป็นผู้ช่วยให้เด็กเสนอคำถามที่ต้องการสืบค้นคำตอบ จดหมายเกี่ยวกับหัวเรื่องที่จะสืบค้นถูกส่งไปยังบ้านของเด็ก ครูจะเป็นผู้กระตุ้นให้พ่อแม่พูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับหัวเรื่องเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ครูจะชี้แนะวิธีสืบค้นเพื่อให้เด็กแต่ละคนได้ทำงานตามศักยภาพโดยใช้ทักษะพื้นฐานทางการสร้าง การวาดภาพ ดนตรี และบทบาทสมมติ
👩ระยะที่ 2 พัฒนาโครงการ : ให้โอกาสเด็กค้นคว้าและมีประสบการณ์ใหม่เป็นงานในภาคสนาม ประกอบด้วยการสืบค้นตามแหล่งข้อมูลต่างๆ ระยะนี้ถือเป็นหัวใจของโครงการ ครูจะเป็นผู้จัดหา จัดเตรียมแหล่งข้อมูลให้เด็กสืบค้น ไม่ว่าจะเป็นจริงหนังสือ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆหรือแม้แต่การออกภาคสนามหรือไปศึกษานอกสถานที่ หรือนัดหมายผู้เชี่ยวชาญ วิทยากรท้องถิ่น เพื่อให้เด็กได้ทำการสืบค้น สังเกตอย่างใกล้ชิด และบันทึกสิ่งที่พบเห็น เขียนภาพที่เกิดจากการสังเกต จัดทำกราฟ แผนภูมิ ไดอะแกรม หรือสร้างแบบต่างๆ สำรวจ คาดคะเน มีการอภิปรายเล่นบทบาทสมมติเพื่อแสดงความเข้าใจในความรู้ใหม่ที่ได้
👩ระยะที่ 3 สรุปโครงการ : ประเมิน สะท้อนกลับ และแลกเปลี่ยนงานโครงการเป็นระยะสรุปเหตุการณ์ รวมถึงการเตรียมเสนอรายงานและผลที่ได้ในรูปของการจัดแสดงการค้นพบ และจัดทำสิ่งต่างๆ สนทนา เล่นบทบาทสมมติ หรือจัดนำชมสิ่งที่ได้จากการก่อสร้างครูควรจัดให้เด็กได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนเรียนรู้กับผู้อื่น เด็กสามารถช่วยกันเล่าเรื่องการทำโครงการให้ผู้อื่นฟังโดยจัดแสดงสิ่งที่เป็นจุดเด่นให้เพื่อนในชั้นเรียนอื่น ครู พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และผู้บริหารได้เห็นครูจะช่วยเด็กเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่จะนำมาแสดงซึ่งการทำเช่นนี้เท่ากับช่วยให้เด็กทบทวนและประเมินโครงการทั้งหมด ครูอาจเสนอให้เด็กใช้จินตนาการ ความรู้ใหม่ที่ได้ผ่านทางศิลปะทางละคร สุดท้ายครูนำความคิดและความสนใจของเด็กไปสู่การสรุปโครงการและอาจนำไปสู่หัวเรื่องใหม่ของโครงการต่อไป
👱คุณค่าของโครงการ
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มุ่งเน้นให้สอน โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญการสอนโดยการทำโครงการเป็นวิธีหนึ่ง โดยแบ่งโครงการออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.โครงการตามสาระการเรียนรู้ เป็นโครงการที่นักเรียนมีกรอบการทำงานภายใต้วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ในเนื้อหาแต่ละเรื่อง
2.โครงการตามความสนใจ นักเรียนอาสาสมัครทำตามความสนใจจากการสังเกตจากความสนใจส่วนตัว
👱ประเภทของโครงการ
เนื่องจากโครงการ คือ การแก้ปัญหาหรือข้อสงสัยของนักเรียน โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเนื้อหาหรือข้อสงสัยตรงกับรายวิชาใด ก็จัดเป็นโครงการในรายวิชานั้น ๆ จึงแบ่ง โครงการตามการได้มาซึ่งคำตอบของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ออกเป็น 4 ประเภท คือ
1.โครงการประเภทการสำรวจและรวบรวมข้อมูล
2.โครงการประเภททดลอง
3.โครงการประเภทสิ่งประดิษฐ์
4.โครงการประเภททฤษฏี
👱บทบาทของครูที่ปรึกษาโครงการ
1.ใช้วิธีการต่าง ๆ ที่จะกระตุ้นให้นักเรียนคิดหัวข้อเรื่องโครงการ
2.จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก วัสดุอุปกรณ์ในการทำโครงการ
3.ติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิดเด็กวัยอนุบาลควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ
4.ให้กำลังใจในกรณีที่ล้มเหลว ควรแก้ปัญหาต่อไป
5.ชี้แนะแหล่งข้อมูล แหล่งความรู้ ผู้รู้ เอกสารต่าง ๆ ในการศึกษาค้นคว้า
6.ประเมินผลงาน ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด จัดเวทีให้แสดงความรู้ความสามารถ
👱ความรู้ที่เด็กจะได้รับเมื่อทำโครงการ
Piaget ได้กล่าวว่าความรู้จากการจัดประสบการณ์แบบโครงการ มี 3 ประเภท ได้แก่
1.ความรู้ทางกายภาพ (Physical Knowledge) เป็นความรู้ที่อยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์ที่เกิดจากการกระทำกับวัตถุ และการสังเกตปฏิกิริยาสะท้อนกลับ ซึ่งความรู้ประเภทนี้จะไม่มีทางสร้างขึ้นได้หากเด็กไม่มีข้อมูลที่เกิดจากปฏิริยาสะท้อนกลับจากวัตถุ เช่นการสังเกตการณ์จม และการลอยของวัตถุชนิดต่าง ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามความรู้ประเภทนี้ไม่สามารถที่จะละเอียดละออได้หากไม่มีเหตุผลทางตรรกะเข้ามา
2.ความรู้ทางตรรกะ คณิตศาสตร์ (Logio – Mathematical Knowledge) เป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับผลของการกระทำกับวัตถุ ที่ใช้การคาดการณ์ถึงผลที่จะเกิดไว้ในใจ ดังนั้น การเสนอแนะเกี่ยวกับผลของการกระทำ จะเกิดขึ้นก่อนที่วัตถุนั้นจะถูกกระทำ และเรื่องราวของความสัมพันธ์ที่ใช้การแทนค่าของวัตถุ เช่นเรื่องจำนวน ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มวัตถุใด
3.ความรู้ทางสังคม (Conventional Arbitry Knowledge) เป็นความรู้ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตนในสังคม เช่นการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับหรือกฎหมาย การเรียนรู้และปฏิบัติตามประเพณีต่างๆ ของสังคมหรือการเรียนรู้ภาษาที่ใช้ในการพูและเขียน เป็นต้น
👱กิจกรรมที่สำคัญในการจัดประสบการณ์แบบโครงการ
การจัดประสบการณ์แต่ละระยะ มีกิจกรรมที่สำคัญดังนี้
1.การพูดคุยสนทนา (Discussion)
การพูดคุยสนทนาเป็นกิจกรรมที่สำคัญในทุกระยะของการทำโครงการ ไม่ควรใช้เวลานานเกินไป นอกจากนี้ครูควรเลือกเวลา และสถานที่ในการพูดคุยกับเด็กที่ครูพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมในการพูดคุยกับเด็กทั้งชั้น ขณะที่เด็กมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วเด็กต้องการที่ปรึกษาหรือ การแก้ปัญหาต่างๆนอกจากนี้การพูดคุยสนทนาเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ของตนเองที่มีไปยังครูและเพื่อนและรับรู้ถึงความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ของบุคคลอื่น
วิธีการตั้งคำถามที่กระตุ้นความสนใจเด็ก มีความสำคัญอย่างมากในการที่ครูจะนำไปใช้เพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็ก เพื่อให้เด็กได้คิด และพยายามค้นหาคำตอบ ตลอดจนส่งเสริมให้เด็กได้แสดงออกทางความคิด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เช่น K_W_L เป็นเทคนิควิธีการกระตุ้นความสนใจของเด็ก ตรวจสอบความรู้ความเข้าใจพื้นฐานที่มีเกี่ยวกับหัวข้อ และเตรียมการในการเรียนรู้ของเด็ก
What you Know ? อะไรที่เด็กอยากรู้
What you Want ? อะไรที่เด็กต้องการ
What you Learned ? อะไรที่เด็กรู้แล้ว
ยังมีคำถามที่สามารถกระตุ้นความสนใจของเด็กดังนี้
เด็กเห็นอะไร, เด็กรู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งที่พบเห็น, คาดว่าอะไรจะเกิดขึ้น, ได้เรียนรู้
อะไรเกี่ยวกับสิ่งที่คาดไว้, เด็กอยากเป็นอะไร, อยากรู้อะไรเกี่ยวกับอาชีพนี้, รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับอาชีพนี้ เป็นต้น
2.การปฏิบัติงานภาคสนาม (Field Work)
การปฏิบัติภาคสนามจะช่วยให้เด็กได้ทั้งเป็นผู้รับและผู้สร้างความรู้ซึ่งเกิดจากการที่เด็กได้มีโอกาสค้นคว้าข้อมูลที่เป็นแหล่งข้อมูล ปฐมภูมิ และจะทำให้เด็กสามารถเข้าใจความรู้ที่ได้รับในห้องเรียนชัดขึ้น สิ่งหนึ่งที่ทำให้ปฏิบัติภาคสนามมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กวัยอนุบาล และทุก ๆวัยมาก เพราะเด็กจะได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ การมอง การได้ยิน การได้กลิ่น การได้ชิม และความประทับใจ จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดี
3.การนำเสนอ (Representation)
การนำเสนอเป็นกิจกรรมที่เด็กได้ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ที่มีเกี่ยวกับหัวข้อที่เด็กกำลังทำโครงการ การนำเสนอจึงเป็นกิจกรรมที่เด็กสามารถทำออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการวาดภาพ การเขียน การระบายสี การสร้าง การประดิษฐ์ การปั้น การตัด การแสดงละคร บทบาทสมมติ การร้องเพลง การเต้น การเล่นเกม และอื่น ๆ ที่เด็กสนใจ การที่เด็กจะทำผลงานหรือนำเสนอสิ่งต่าง ๆ เด็กจะต้องทำความเข้าใจ และใช้ความรู้ ทักษะต่าง ๆเช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะและอื่น ๆ การนำเสนอจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนกรเรียนรู้ของเด็ก
4.การค้นคว้า (Investigation)
การค้นคว้าเป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เบื้องต้นคือ การหาวิธีการที่จะได้ข้อมูลหรือความรู้เกี่ยวกับหัวข้อ การค้นคว้ามีกลวิธีที่เด็กจะได้ปฏิบัติจากการทำโครงการคือ กลวิธีการเป็นผู้กระทำ และกลวิธีการเป็นผู้รับ
5.การจัดแสดง (Display)
การจัดแสดง เป็นการนำความรู้ หรือผลงานที่เด็กได้ทำในโครงการออกนำเสนอ ซึ่งจะทำให้เด็กที่ทำโครงการได้นำผลงานมาแสดงให้เพื่อน ครูและผู้ปกครองได้เห็นถึงขั้นตอน และ กระบวนการการเรียนรู้ที่เด็กได้ทำในโครงการ การจัดแสดงมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดป้ายนิเทศ การจัดนิทรรศการ และการจัดแสดงอื่น ๆ
ดังนั้นการจัดประสบการณ์แบบโครงการจังเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่แตกต่างจากการจัดประสบการณ์โดยทั่ว ๆไป คือ การเปิดโอกาสให้เด็กสร้างทางเลือก และใช้การตัดสินใจ การให้เด็กได้เรียนรู้ความผิดพลาดของตนเอง ให้เด็กได้คิดวิเคราะห์เพื่อช่วยในการคิดและตัดสินใจในครั้งต่อไป การให้เด็กคาดการณ์ถึงผลที่จะเกิดขึ้น ความลึกซึ้งในเรื่องที่ศึกษาขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็กที่จะค้นคว้าหาความรู้ของตนเองและครูจะให้คำแนะนำตามความสนใจที่เด็กอยากเรียนรู้ ในแต่ละระยะของการทำโครงการกิจกรรมหลักที่สำคัญทั้ง 5 กิจกรรมจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และพัฒนาโครงการที่ทำจนเป็นผลสำเร็จ
ป้ายนิทรรศการที่พี่ๆจัดกิกรรมเกี่ยวกับโปรเจกต์ "เรือ"ให้กับเด็กๆ
💚งานที่ได้รับมอบหมาย💚
หลังจากนั้นอาจารย์ให้นักศึกษาไปชมการสัมมนาหลังฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู 1
สิ่งที่ได้รับ
จากการที่ได้ฟังพี่ๆที่อยู่สาขาการศึกษาปฐมวัย พี่ๆพูดถึงในเรื่องของ เด็กปฐมวัยต้องเรียนอย่างไร ? เนื้อหาที่ครูนำมาสอนเด็กปฐมวัยได้มาอย่างไร ?
กระบวนการได้มาซึ่งในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
1.วิเคราะห์หลักสูตร.
1.1 มาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์
1.2 สาระการเรียนรู้
1.2.1 ประสบการณ์สำคัญ
1.2.2 สาระที่เด็กควรเรียนรู้
❤️ประสบการณ์สำคัญ ⭐️ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์จิตใจ ด้านสังคม ด้านสติปัญญา
❤️สาระที่เด็กควรเรียนรู้ ⭐️ สิ่งต่างๆรอบตัวเด็กเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก ธรรมชาติรอบตัวเด็กบุคคลและสถานที่สิ่งแวดล้อม
หลักการเลือกหัวข้อเรื่องในการสอนอย่างเช่นหน่วย อาหารดีมีประโยชน์ ต้องเลือกเรื่องที่ใกล้ตัวเด็ก สัมพันธ์กับเด็ก ส่งผลกระทบต่อตัวเด็ก
นั้นนำหัวข้อเรื่องก็ได้มาแตกเนื้อหาย่อย
2.ศึกษาประสบการณ์สำคัญ
3.กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้
4.ออกแบบกิจกรรมเพื่อจัดประสบการณ์
กระบวนการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดไฮสโคปในกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์/เล่นเสรี
ดร.เดวิด ไวคาร์ท
💗หลักการ
โปรแกรมไฮสโคปเน้นการเรียนรู้แบบลงมือกระทำผ่านมุมเล่นที่หลากหลาย ด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กและการแก้ปัญหาอย่างกระตือรือร้น
1.หลักการของหลักสูตรไฮ/สโคปสามารถสรุปเป็นแผนภูมิรูปภาพวงล้อของการเรียนรู้ (High/Scope Wheel of Learning) ดังนี้
2.หลักสูตรไฮ /สโคปเน้นความสำคัญของการเรียนรู้แบบลงมือกระทําผ่านมุมประสบการณ์ หรือศูนย์การเรียนที่หลากหลายด้วยวัสดุอุปกรณ์และกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก การแก้ปัญหาอย่างกระตือรือร้นได้รับการส่งเสริมในขณะเด็กวางแผนแต่ละวันว่าจะทำอย่างไร ปฏิบัติตามที่วางแผนและทบทวนสิ่งที่พวกเขาได้ทำ ครูใช้การสอนกลุ่มย่อยเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ ใช้คำถาม การสนับสนุนและการขยายการเรียนรู้ของเด็กๆ ไปพร้อมๆ กับการเพิ่มพูนทักษะการสื่อสาร
3.มีความสมดุลระหว่างประสบการณ์ที่เด็กริเริ่ม และกิจกรรมที่ครูวางแผนการสอน ครูใช้เทคนิคการสังเกตในการศึกษาและเข้าใจการเล่นของเด็ก
4.ผู้ปกครองมีบทบาทสําคัญมากในการศึกษาแนวนี้ เพราะต้องปฏิบัติต่อลูกของตนว่าเป็นผู้เรียนรู้ที่สามารถและกระตือรือร้น โดยทั้งครูและผู้ปกครองมีฐานะเป็นเพื่อนร่วมงาน ที่ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน
💗กระบวนการ
1.ยุทธวิธีการสอนที่สําคัญของไฮ / สโคป การเรียนรู้แบบลงมือกระทํา (Active learning) ซึ่งสะท้อนบริบทของการตอบสนองความสนใจของเด็ก ให้เด็กเรียนรู้อย่างสนุกสนาน เพลิดเพลินด้วยสื่อการสอนที่หลากหลาย โดยที่สื่อเหล่านี ้เปิดโอกาสให้เด็กกระทํา ลงมือปฏิบัติ สัมผัส เล่นและควบคุม เด็กมีการเลือกและตัดสินใจ ตลอดจนใช้ภาษาในการสื่อความหมายภายใต้การสนับสนุนจากผู้ใหญ่
2.กิจวัตรประจําวันของเด็ก เน้นการเปิดโอกาสให้ทั้งครูและเด็กเรียนรู้ร่วมกัน จากการทํากิจกรรมกลุ่มใหญ่กลุ่มย่อยและรายบุคคล โดยในแต่ละวันจะมีช่วงเวลาหนึ่ง ( 60 นาที ) เป็นช่วงวางแผน ลงมือปฏิบัติและทบทวน (Plan Do Review) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการให้เด็กริเริ่มกิจกรรมอย่างอิสระ ทําให้เด็กได้พัฒนากระบวนการทํางานอย่างมีระบบ เป็นขั้นตอนนําไปสู่ความมั่นใจและความเชือมั่นในตนเอง เพราะในกระบวนการนี ้เด็กจะได้เลือกทํากิจกรรมที่หลากหลายจากมุมประสบการณ์ต่างๆ ในห้องเรียน และการเรียนรู้เกิดขึ้นในขณะที่เด็กกระทําสัมผัส และทดลองกับสิ่งต่างๆ และผู้ที่รอบข้าง
3.การจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ ตลอดจนปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก มีการเลื่อนไหลของกิจกรรม ทําให้เด็กรู้สึกกระตือรือร้น
4.การประเมินพัฒนาการเด็ก ใช้หลักการประเมินผลตามสภาพจริง (Anthentic Assessment) ครูซึ่งจะทํางานเป็นคณะ (Teamwork) วางแผนร่วมกันและจัดทําบันทึกประจําวัน จากการสังเกตพฤติกรรมเด็กเป็นรายบุคคลและสรุปลงใน Child Observation Record หรือ COR
💗การเรียนรู้แบบลงมือกระทำ (Active Learning)
หลักการที่สําคัญของไฮสโคปในระดับปฐมวัย คือ การเรียนรู้แบบลงมือกระทํา ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานสําคัญในการพัฒนาเด็ก การเรียนรู้แบบลงมือกระทําจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโปรแกรมที่พัฒนาเด็กอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการ การเรียนรู้แบบลงมือกระทํา หมายถึง การเรียนรู้ซึ่งเด็กได้จัดกระทํากับวัตถุ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล ความคิดและเหตุการณ์ จนกระทั่งสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Hohmann and Weikart,1995) ทั้งนี้ องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบลงมือกระทํา ได้แก่
1.การเลือกและตัดสินใจ เด็กจะเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมจากความสนใจและความตั้งใจของตนเอง เด็กเป็นผู้เลือกวัสดุอุปกรณ์และตัดสินใจว่าจะใช้วัสดุอุปกรณ์นั้นอย่างไร การที่เด็กมีโอกาสเลือกและตัดสินใจทําให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่าได้รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้ใหญ่ ดังนั้น ผู้ใหญ่ที่ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการเลือกและการตัดสินใจต้องจัดให้เด็กมีอิสระที่จะเลือกได้ตลอดทั้งวันขณะที่ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันไม่ใช่เฉพาะในช่วงเวลาเล่นเสรีเท่านั้น
2.สื่อ ในห้องเรียนที่เด็กเรียนรู้แบบลงมือกระทำจะมีเครื่องมือ และวัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลาย เพียงพอ และเหมาะสมกับระดับอายุของเด็ก เด็กต้องมีโอกาสและมีเวลาเพียงพอที่จะเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างอิสระ เมื่อเด็กใช้เครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เด็กจะมีโอกาสเชื่อมโยงการกระทำต่าง ๆ การเรียนรู้ในเรื่องของความสัมพันธ์ และมีโอกาสในการแก้ปัญหามากขึ้นด้วย
3.การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 การเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 การให้เด็กได้สำรวจและจัดกระทำกับวัตถุโดยตรงทำให้เด็กรู้จักวัตถุ หลังจากที่เด็กคุ้นเคยกับวัตถุ แล้วเด็กจะนำวัตถุต่าง ๆ มาเกี่ยวข้องกันและเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ ผู้ใหญ่มีหน้าที่จัดให้เด็กค้นพบความสัมพันธ์เหล่านี้ด้วยตนเอง
4.ภาษาจากเด็ก สิ่งที่เด็กพูดจะสะท้อนประสบการณ์และความเข้าใจของเด็ก ในห้องเรียนที่เด็กเรียนรู้แบบลงมือกระทําเด็กมักจะเล่าว่าตนกําลังทําอะไร หรือทําอะไรไปแล้วในแต่ละวัน เมื่อเด็กมีอิสระในการใช้ภาษาเพื่อสื่อความคิดและรู้จักฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เด็กจะเรียนรู้วิธีการพูดที่เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ได้พัฒนาการคิดควบคู่ไปกับการพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเองด้วย
5.การสนับสนุนจากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ในห้องเรียนการเรียนรู้แบบลงมือกระทําต้องสร้างความสัมพันธ์กับเด็ก สังเกตและค้นหาความตั้งใจ ความสนใจของเด็ก ผู้ใหญ่ควรรับฟังเด็ก ส่งเสริมให้เด็กคิดและ ทําสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ในห้องเรียนที่เด็กเรียนรู้แบบลงมือกระทํา เด็กจะเผชิญกับประสบการณ์สําคัญซํ้าแล้วซํ้าอีกในชีวิตประจําวันอย่างเป็นธรรมชาติ ประสบการณ์สําคัญเป็นกุญแจที่จําเป็นในการสร้างองค์ความรู้ของเด็กเป็นเสมือนกรอบความคิดที่จะทําความเข้าใจการเรียนรู้แบบลงมือกระทําเราสามารถให้คําจํากัดความได้ว่า ประสบการณ์สําคัญเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ที่เด็กจะต้องหามาให้ได้โดยการปฏิสัมพันธ์กับวัตถุ คน แนวคิดและเหตุการณ์ สำคัญต่างๆ อย่างหลากหลาย ประสบการณ์สำคัญเป็นกรอบความคิดให้กับผู้ใหญ่ในการเข้าใจการเรียนรู้ของเด็ก สามารถวางแผนการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมและประเมินพัฒนาการของเด็กอย่างเหมาะสม
💗การจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ (Learning Environment)
การจัดสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยมีความสําคัญต่อการพัฒนาและการเรียนรู้ของเด็ก ตามหลักการของไฮสโคปถือว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเสมือนครูคนที่ 3 และเป็นส่วนหนึ่งของวงล้อการเรียนรู้ ซึ่งมีสาระครอบคลุม 3 เรื่อง ได้แก่ พื้นที่ สื่อ และการจัดเก็บ โดยแต่ละเรื่องมีรายละเอียด ดังนี้
พื้นที่ (Space)
เด็กปฐมวัยเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทํา เด็กจึงต้องการพื้นที่ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ พื้นที่ในการใช้สื่อต่างๆ สํารวจ เล่นก่อสร้าง และแก้ปัญหา พื้นที่ในการเคลื่อนไหว พื้นที่ส่วนตัว พื้นที่สําหรับเล่นคนเดียวและเล่นกับผู้อื่น พื้นที่เก็บของใช้ส่วนตัว และจัดแสดงผลงาน พื้นที่สําหรับผู้ใหญ่ที่จะร่วมเล่นและสนับสนุนความสนใจของเด็ก การจัดแบ่งพื้นที่ภายในห้องเรียนจะประกอบด้วย 5 ส่วน ดังนี้
1.พื้นที่เก็บของใช้ส่วนตัวของเด็ก เช่น ผ้ากันเปื่อน แปรงสีฟันแก้วนํ้า ฯลฯ อาจจะเป็นตู้ยาวแยกเป็นช่องรายบุคคล หรือชั้นวางของเป็นช่องๆ โดยมีชื่อเด็กติดแสดงความเป็นเจ้าของ
2.พื้นที่กิจกรรมกลุ่มใหญ่ เช่น กิจกรรมฟังนิทาน ร้องเพลงเคลื่อนไหว ฯลฯ ที่ทําร่วมกันทั้งชั้นเรียน
3.พื้นที่กิจกรรมกลุ่มย่อย เช่น กิจกรรมศิลปะร่วมมือ กิจกรรมทําหนังสือนิทานร่วมกันเป็นกลุ่มย่อย กิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ฯลฯ โดยสมาชิกกลุ่มที่เหมาะสม คือ 4-6 คน ทั้งนี้เพื่อครูจะได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์ได้ใกล้ชิดและทั่วถึงมากขึ้น
4.พื้นที่สําหรับมุมเล่น ไฮสโคปได้กําหนดให้มีมุมพื้นฐาน 5 มุม ประกอบด้วย มุมหนังสือ มุมบล็อก มุมบ้าน มุมศิลปะ และมุมของเล่นซึ่งหมายถึงเครื่องเล่นสัมผัส เกมและของเล่นบนโต๊ะ ทั้งนี้ ไฮสโคปมีหลักการเรียกชื่อมุมต่างๆ ด้วยภาษาที่เด็กเข้าใจ จะไม่ใช้ภาษาซึ่งเป็นนามธรรมมากๆ เช่น มุมบทบาทสมมติ มุมเครื่องเล่นสัมผัส นอกจากนี้ ไฮสโคปเชื่อว่ามุมเล่นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามความสนใจของเด็ก เช่น เมื่อเด็กเกิดความสนใจหลากหลายมุมบ้านก็อาจปรับเปลี่ยนเป็นมุมร้านเสริมสวยมุมหมอ หรือมุมร้านค้าได้ตามบริบทของสิ่งที่เด็กสนใจในขณะนั้น
5.พื้นที่เก็บของใช้ครู เช่น หนังสือ คู่มือครู เอกสารโปรแกรมสื่อการสอนส่วนรวมของชั้นเรียน เช่น วัสดุศิลปะต่าง ๆ เป็นต้น
สื่อ ( Materials)
สื่อ หมายถึง วัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลาย ทั้งประเภท 2 มิติ 3 มิติ สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น สื่อที่เอื้อให้เด็กเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยมีการจัดการใช้สื่อที่เริ่มต้นจากสื่อที่เป็นรูปธรรมไปสู่นามธรรม กล่าวคือ เริ่มต้นจากสื่อของจริง ของจําลอง ภาพถ่าย ภาพโครงร่าง และสัญลักษณ์ ตัวอย่างเช่นเรื่องกล้วย ให้เรียงลําดับสื่อจากกล้วยจริง กล้วยจําลอง ภาพถ่ายกล้วย ภาพวาด หรือภาพโครงร่าง และคําว่า "กล้วย" อยู่ท้ายสุด ทั้งนี้เพราะการใช้สื่อต้องเหมาะสมกับวัย วุฒิภาวะ ความแตกต่างระหว่างบุคคล ความสนใจและความต้องการของเด็กที่หลากหลาย ตลอดจนสื่อที่สะท้อนชีวิตครอบครัวของเด็ก ไฮสโคปเน้นหลักการข้อนี้มาก ดังนั้น หนังสือนิทาน นิตยสาร ภาพถ่าย ตุ๊กตา เสื้อผ้า มุมบ้าน มุมดนตรี หรือของเล่น เช่น ภาพตัดต่อ ควรสะท้อนภาษา บรรยากาศ อาชีพ และสิ่งก่อสร้างหรือสถาปัตยกรรมในชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ด้วย
การจัดเก็บ (Storage)
ไฮสโคปให้ความสำคัญกับระบบจัดเก็บสื่อด้วยวงจร "ค้นหา-ใช้-เก็บคืน" (Find-Use-Return Cycle) ตามกรอบแนวคิด ดังนี้
1.สื่อที่เหมือนกันจัดเก็บหรือจัดวางไว้ด้วยกัน
2.ภาชนะบรรจุสื่อควรโปร่งใสเพื่อให้เด็กมองเห็นสิ่งที่อยู่ภายในได้ง่าย และควรมีมือจับเพื่อให้สะดวกในการขนย้าย
3.การใช้สัญลักษณ์ (Labels) ควรมีความหมายต่อการเรียนรู้ของเด็ก สัญลักษณ์ทํามาจากสื่ออุปกรณ์ของจริง ภาพถ่ายหรือภาพสําเนาภาพวาด ภาพโครงร่างหรือภาพประจุด หรือบัตรคําติดคู่กับสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ไฮสโคปเชื่อว่าวงจร "ค้นหา-ใช้-เก็บคืน" ส่งเสริมการเรียนรู้ เพราะเด็กๆ ได้ฝึกการสังเกต เปรียบเทียบ จัดกลุ่ม เด็กได้สั่งสมประสบการณ์ส่งเสริมความรับผิดชอบ รู้จักมีนํ้าใจช่วยเหลือ เป็นการเรียนรู้ทางสังคม ดังนั้น ครูจึงควรจัดเวลา "เก็บของเล่น" ทุกวันอย่างเพียงพอ มีสัญญาณเตือนก?อนเวลาจะสิ้นสุด ครูควรช่วยเด็กเก็บของเล่นเพื่อเป็นแบบอย่างและทําให้เด็กสนุกสนาน ครูต้องไม่ใช้การเก็บของเล่นเข้าที่เป็นการลงโทษเด็ก
นอกจากนี้สื่อจะต้องจัดวางไว้ในระดับสายตาเด็ก (Eye-level)เพื่อให้เด็กมองเห็นได้ชัดเจน สามารถหยิบใช้และจัดเก็บได้ด้วยตนเองไม่ใช้อยู่สูงจนเป็นอันตรายเวลาเอื้อมหยิบ หรือต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ให้หยิบให้ตลอดเวลา
💗กระบวนการวางแผน-ปฏิบัติ-ทบทวน
การวางแผน (Plan)
การวางแผน คือ กระบวนการคิดของเด็กเกี่ยวกับเป้าหมายที่จะกําหนดการกระทําที่คาดหวัง การวางแผนของเด็กขึ้นอยู่กับอายุ ความสามารถทางการสื่อสารและการใช้ภาษา เด็กอาจวางแผนโดยการกระทําท่าทางหรือคําพูด การวางแผนมีความสําคัญเนื่องจากเป็นการสนับสนุนความคิด การเลือกและการตัดสินใจของเด็กที่ชัดเจน ส่งเสริมความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองของเด็กและความรู้สึกในการควบคุมตนเอง ทําให้เด็กมีความสนใจการเล่นที่ได้วางแผนไว้ ส่งเสริมพัฒนาการการเล่นที่มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น
การปฏิบัติ / การทํางาน (Do / Work time)
การทํางานเป็นช่วงเวลาที่เด็กได้ลงมือกระทํา เล่น และแก้ปัญหาอย่างมีจุดมุ่งหมาย ตั้งอกตั้งใจ และได้เรียนรู้ตามประสบการณ์สําคัญ ช่วงเวลาการทํางานเป็นช่วงที่เด็กได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ตั้งใจไว้ ค้นพบความคิดใหม่ๆ เป็นช่วงที่เด็กต้องเลือกและตัดสินใจใช้วัสดุอุปกรณ์บริเวณและขั้นตอนในการเล่น ซึ่งทําให้เด็กเป็นผู้ทํางานอย่างจริงจัง เด็กได้การเล่นของเด็กคือความต้องการที่จะสํารวจ ทดลอง ประดิษฐ์ สร้างสรรค์และเลียนแบบ ดังนั้น เมื่อเด็กได้วางแผน กิจกรรมจึงมีลักษณะทั้งการทํางานที่จริงจังและการเล่นที่มีความสนุกสนานและสร้างสรรค์อย่างเป็นธรรมชาติ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เด็กได้มีส่วนร่วมในสังคมจากการวางแผนเล่นเป็นคู่หรือกลุ่ม หรือทํางานคนเดียวแต่ตระหนักถึงผู้อื่น และได้แก่ ปัญหาจากการทํางานที่เด็กจะพบว่ามีทั้งสิ่งที่เป็นไปตามที่เขาคาดหวังและปัญหา เขาจะค้นพบความรู้ใหม่ที่ทําให้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับลักษณะกายภาพและสังคม การลงมือกระทําจากสิ่งที่เด็กริเริ่มและประสบการณ์ตรงทําให้เด็กได้สรรค์สร้างความรู้ด้วยตนเอง
การทบทวน (Recall time)
ช่วงของการทบทวนเป็นช่วงที่เด็กได้สะท้อน พูดคุย และนำเสนอเกี่ยวกับสิ่งที่ทําในช่วงการทํางาน ในกระบวนการวางแผนเด็กได้ตั้งเป้าหมายและคาดเดาการกระทําล่วงหน้า ในกระบวนการทบทวนเด็กได้ทําความเข้าใจโดยการใช้ภาษา การอภิปราย และการวิเคราะห์เชื่อมโยงสะท้อนความคิดเกี่ยวกับการกระทําและประสบการณ์ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างความเข้าใจและตีความสิ่งที่ได้ปฏิบัติ ได้ตระหนักถึงความเกี่ยวเนื่องจากการวางแผน การกระทํา และผลที่ได้รับ ได้พูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง เป็นโอกาสดีที่เด็กจะได้ฝึกการเล่าเรื่อง การบรรยาย เด็กจะได้ฝึกความสามารถในการแสดงให้ผู้อื่นเห็น และเข้าใจประสบการณ์ของตน ได้ตระหนักถึงสิ่งที่เป็นอดีต การทบทวนทําให้เด็กสะท้อนกลับไปยังเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ การกระทําซึ่งได้สำรวจหรือการปรับปรุงแผนงานที่วางไว้ และผลผลิตที่ได้รับในปัจจุบัน ทำให้เขาได้พิจารณาตั้งแต่อดีตซึ่งเป็นตัวชี้นําปัจจุบันและอนาคต นับเป็นทักษะที่นําไปใช้ได้ในชีวิต
💗การประเมิน (Assessment)
ในโปรแกรมไฮสโคป การประเมินถือเป็นงานโดยตรงของครูที่จะต้องตั้งใจปฏิบัติและเอาใจใส่อย่างเต็มที่ ครูไฮสโคปจะทํางานร่วมกันเป็นคณะ ในแต่ละวันครูทุกคนจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก ข้อมูลนี้ได้จากการสังเกตและการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กในกิจวัตรประจําวัน โดยครูจะจดบันทึกสั้นตามสิ่งที่เห็นและได้ยินอย่างเที่ยงตรง สมาชิกครูที่ร่วมกันสอนจะมีการวางแผนประจำวันร่วมกันก่อนที่เด็กจะมาถึงโรงเรียน หรือหลังจากที่เด็กกลับบ้าน หรือในขณะที่เด็กนอนพักผ่อนตอนกลางวัน ครูจะแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้จากการสังเกตเด็ก ทําการวิเคราะห์ข้อมูลในด้านประสบการณ์สําคัญ และวางแผนสำหรับวันต่อไป
จุดมุ่งหมายหลักของการประเมิน คือ การประเมินคุณภาพของโปรแกรม และพัฒนาการเด็กซึ่งไฮสโคปได้สร้างแบบประเมินคุณภาพโปรแกรม (High/Scope Program Quality Assessment หรือ PQA) และแบบสังเกตบันทึกพฤติกรรมเด็ก (High/Scope Child Observation Record หรือ COR) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. แบบประเมินคุณภาพโปรแกรม (PQA)
ไฮสโคป ได้จัดทําแบบประเมินคุณภาพโปรแกรม (PQA) ประกอบด้วยมาตรฐานคุณภาพด้านต่างๆ เช่น ด้านการจัดห้องเรียน สื่อ วัสดุ ครุภัณฑ์ กิจวัตรประจําวัน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก การวางแผน และการประเมินเป็นคณะ ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ผู้ปกครองการฝึกอบรมครูระหว่างประจําการและการนิเทศ ในแต่ละด้านจะแยกออกเป็นข้อย่อย แต่ละข้อย่อยกําหนดเป็นระดับ 1-5 มีขั้นตอนการให้คะแนน PQA
2. แบบสังเกตบันทึกพฤติกรรมเด็ก (COR)
COR เป็นเครื่องมือประเมินพัฒนาการเด็กที่ไฮสโคปสร้างขึ้นเพื่อนํามาใช้แทนแบบทดสอบซึ่งถือว่าไม่เหมาะสมกับเด็ก เครื่องมือชิ้นนี้ ไฮสโคปใช้กับเด็กอายุ 2 - 6 ปี โดยสังเกตเด็กขณะทํากิจกรรมปกติในแต่ละวัน ผู้ที่สังเกตจะต้องผ่านการฝึกอบรมการสังเกตและบันทึกพฤติกรรมเพื่อที่จะสามารถใช้ COR ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แบบสังเกตบันทึกพฤติกรรมเด็ก (COR) ช่วยให้ครูที่ทํางานอยู่ในโปรแกรมที่พัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการ ได้สังเกตเด็ก และบันทึกพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกในกิจวัตรประจําวันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ COR จะช่วยชี้ให้เห็นทักษะและศักยภาพของเด็กแต่ละคน ทําให้ครูวางแผนการสอน และปรับสื่อการเรียนการสอน เทคนิควิธีการและกิจกรรมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของเด็กเป็นรายบุคคล รายการสังเกตใน COR มี 6 รายการ ตามประสบการณ์สำคัญในไฮสโคป คือ
1.การริเริ่ม (Initiative)
2.ความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relations)
3.การนําเสนออย่างสร้างสรรค์ (Creative Representation)
4.ดนตรีและการเคลื่อนไหว (Music and Movement)
5.ภาษาและการรู้หนังสือ (Language and Literacy)
6.ตรรกและคณิตศาสตร์ (logic and Mathematics)
👾EF ทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สำเร็จ👾
EF (Executive Functions) เป็นกระบวนการทางความคิด (Mental process) ในสมองส่วนหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ เช่น การยั้งใจคิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นทางความคิด การตั้งเป้าหมาย วางแผน ความมุ่งมั่น การจดจำและเรียกใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ และการทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนบรรลุความสำเร็จ ซึ่งเป็นทักษะที่มนุษย์เราทุกคนต้องใช้ มีความสำคัญยิ่งต่อทั้งความสำเร็จในการเรียน การทำงาน รวมทั้งการมีชีวิตครอบครัว ทักษะ EF นี้นักวิชาการระดับโลกชี้แล้วว่า สำคัญกว่า IQ
ทั้งนี้ มีงานวิจัยชัดเจนว่า ช่วงวัย 3-6 ปีนี้ เป็นช่วงเวลาทองของชีวิตในการพัฒนาทักษะ EF ให้กับเด็ก เพราะสมองจะมีการพัฒนาทักษะ EF ได้ดีที่สุดในช่วงเวลานี้ พ้นจากช่วงเวลานี้ไปถึงวัยเรียน วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น แม้จะยังพัฒนาได้ แต่ก็จะไม่ได้ดีเท่ากับช่วงปฐมวัย
Executive Functions (EF) ประกอบด้วยทักษะ 9 ด้าน ประกอบด้วย
1.Working memory ความจำที่นำมาใช้งาน ความสามารถในการเก็บข้อมูล ประมวล และดึงข้อมูลที่เก็บในคลังสมองของเราออกมาใช้ตามสถานการณ์ที่ต้องการ
2.Inhibitory Control การยั้งคิด และควบคุมแรงปรารถนาของตนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จนสามารถหยุดยั้งพฤติกรรมได้ในกาลเทศะที่สมควร เด็กที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ ก็เหมือน “รถที่ขาดเบรก”
3.Shift หรือ Cognitive Flexibility การยืดหยุ่นความคิด สามารถปรับเปลี่ยนความคิดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปยืดหยุ่นพลิกแพลงเป็น เห็นทางออกใหม่ๆ และคิดนอกกรอบ”ได้
4.Focus / Attention การใส่ใจจดจ่อมุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่วอกแวก
5.Emotional Control การควบคุมอารมณ์ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จัดการกับความเครียดความเหงาได้ มีอารมณ์มั่นคง และแสดงออกแบบที่ไม่รบกวนผู้อื่น
6.Planning and Organizing การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการเริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การเห็นภาพรวม จัดลำดับความสำคัญ จัดระบบโครงสร้าง จนถึงการแตกเป้าหมายให้เป็นขั้นตอน
7.Self -Monitoring การรู้จักประเมินตนเอง รวมถึงการตรวจสอบการงานเพื่อหาจุดบกพร่อง และรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร ได้ผลอย่างไร
8.Initiating การริเริ่มและลงมือทำงานตามที่คิดเมื่อคิดแล้วก็ลงมือทำ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
9. Goal-Directed Persistence ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย เมื่อตั้งใจและลงมือทำแล้ว มีความมุ่งมั่นบากบั่น ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆก็พร้อมฝ่าฟันจนถึงความสำเร็จ
💖คำศัพท์💖
1.Initiative การริเริ่ม
2.Social Relations ความสัมพันธ์ทางสังคม
3.Creative Representation การนําเสนออย่างสร้างสรรค์
4.Movement การเคลื่อนไหว
5.Language ภาษา
การประเมิน
ประเมินตนเอง 👾 วันนี้ได้ความรู้เกี่ยวกับการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กโดยการใช้โปรเจกต์เป็นสื่อให้เด็กเข้าใจมากขึ้น และได้เข้าไปชมการสัมมนาของพี่ๆปี 5 ทำให้เราได้รู้แนวการนำเสนอได้ชัดเจน
ประเมินเพื่อนร่วมห้อง 👾 เพื่อนๆตั้งใจฟังดีมากและมีการจดบันทึกสรุปเป็นองค์ความรู้ของตนเอง
ประเมินอาจารย์ 👾 อาจารย์ให้นักศึกษามาชมนิทรรศการเพื่อได้เป็นองค์ความรู้ของตนเองนำไปใช้ได้ในอนาคตตอนที่เราฝึกสอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น